Go Back
Report Abuse
Mu Ko Lanta
Mu Ko Lanta – Plan
Mu Ko Lanta – Plan 1

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

Description

ข้อมูลจากสำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สถานที่ติดต่อ : 59 หมู่ที่ 5 บ้านแหลมโตนด ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 81150

E-mail : lanta_np@hotmail.com

โทรศัพท์ : 0 7565 6576
(สอบถามข้อมูลทั่วไปและการเปิดแหล่งท่องเที่ยวได้ที่หมายเลขนี้)

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ: นายวีระศักดิ์ ศรีสัจจัง
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท

**หมายเหตุ เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้วกรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ

อัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะ : -->>คลิก

ร้านค้าสวัสดิการ
ร้านค้าสวัสดิการ (ร้านอาหาร)
แหลมโตนด เปิดให้บริการทุกวันเวลา 08.30 น. - 16.30 น.
เกาะรอก เปิดให้บริการทุกวันเวลา 08.30 น. - 17.00 น.

สัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่
1. บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา : AIS
2. บริเวณเกาะรอก : DTAC, TRUE ได้เป็นบางจุด
3. บริเวณเกาะตุกนลิมา หรือเกาะห้า : AIS
4. บริเวณเกาะไหง : AIS, DTAC, TRUE
5. บริเวณถ้ำเขาไม้แก้ว : AIS

อาณาเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
- ด้านทิศเหนือ จดปากคลองพน
- ด้านทิศใต้ จดทะเลอันดามัน
- ด้านทิศตะวันออก จดทะเลอันดามัน
- ด้านทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน

ขนาดพื้นที่
83750.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลต.1 (เกาะรอก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลต.2 (เกาะไหง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลต.3 (คลองทราย)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลต.4 (เขาไม้แก้ว)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยเกาะ 25 เกาะ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกาะรอก ประกอบด้วย เกาะรอกนอก และเกาะรอกใน ซึ่งเกาะรอกในมีภูมิประเทศทั่วไปเป็นหินผาสูงชันมีโขดหินที่ถูกกัดกร่อนมาเป็นเวลานานอยู่ทางทิศเหนือ ด้านที่หันสู่ทิศตะวันตกเป็นหน้าผาทอดยาว ด้านหน้าของเกาะมีความยาวประมาณ 2.4 กิโลเมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 208 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนเกาะรอกนอกเป็นเกาะที่มีขนาดใกล้เคียงกับเกาะรอกใน ยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 156 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณระหว่างช่องเขาจะมีที่ราบขนาดกว้างอยู่ 2 แห่ง คือ ช่องเขาหาดทะลุ และอ่าวม่านไทร สภาพธรณีของกลุ่มเกาะรอกอยู่ในยุคเพอร์เมียน-คาร์บอนิเฟอรัส มีช่วงอายุตั้งแต่ 345-230 ล้านปีมาแล้ว

กลุ่มเกาะห้า (เกาะตุกนลิมา) และเกาะหินแดง กลุ่มเกาะห้าประกอบด้วยเกาะเล็กๆ 5 เกาะ มีที่ราบเล็กน้อยบนยอดเขาของเกาะที่มีพื้นที่มาก 2 เกาะ และอีก 3 เกาะที่เหลือมีลักษณะเหมือนหินโผล่พื้นน้ำ ไม่มีพื้นที่ราบ ลักษณะทางธรณีของกลุ่มเกาะนี้ เป็นหินปูนในหินชุดราชบุรีในยุคเพอร์เมียนช่วงล่าง-ช่วงกลาง มีช่วงอายุ 280-230 ล้านปี

กลุ่มเกาะไหง ประกอบด้วย เกาะไหง และเกาะม้า ด้านหน้าเกาะทางทิศตะวันออกของเกาะไหงประกอบด้วยหาดทรายยาวเหยียด ทิศใต้ลักษณะเป็นอ่าว ด้านตะวันตกตอนเหนือมีลักษณะเป็นเขาสูงชัน ยอดเขาสูงที่สุด สูง 198 เมตรจากระดับน้ำทะเล สำหรับเกาะม้ามีลักษณะเหมือนหินโผล่พื้นน้ำ ไม่มีพื้นที่ราบ สภาพทางธรณีของกลุ่มเกาะนี้โดยรวมมีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มเกาะรอก

กลุ่มเกาะลันตา ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยจำนวน 16 เกาะ ได้แก่ เกาะลันตาใหญ่ เกาะตะละเบ็ง เกาะไม้งาม เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศของเกาะลันตาใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน และค่อนข้างลาดชัน ที่ราบปรากฏเฉพาะบริเวณชายหาดทางตอนใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงบริเวณตอนกลางของเกาะที่มีความลาดชันมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตร ไปจนถึงยอดเขาสูงที่สุดตอนกลางของพื้นที่ที่มีความสูง 488 เมตร สำหรับเกาะอื่นๆ มีสภาพเป็นโขดหินสูงชัน ไม่มีที่ราบปรากฏ ลักษณะธรณีของบริเวณเกาะไม้งาม เกาะไม้งามใต้ มีลักษณะเป็นตะกอนน้ำพา ตะกอนชะวากทะเล และตะกอนที่ลุ่มที่ราบชายเลน ในสมัยโฮโลซีน

สำหรับบริเวณเกาะร่าปูพัง เกาะลาปูเล และเกาะตะละเบ็ง มีลักษณะธรณีโดยรวมเช่นเดียวกับกลุ่มเกาะห้า และลักษณะธรณีของบริเวณเกาะลันตาใหญ่ก็เช่นเดียวกับกลุ่มเกาะรอก บนเกาะลันตาใหญ่มีลำธารน้ำไหลซึ่งมีน้ำไหลอยู่หลายแห่ง แต่มักขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยมีลำธารเพียง 3 สาย ที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี ได้แก่ คลองจาก คลองน้ำจืด และคลองนิน

ลักษณะภูมิอากาศ
จากสถานศึกษาข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ของสถานีตรวจวัดอากาศที่อยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติ คือ สถานีตรวจวัดอากาศเกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 องศาเซลเซียส โดยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 34 องศาเซลเซียส ในเดือนมีนาคม และอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 24 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีมากกว่า 2,100 มิลลิเมตร ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี เฉพาะบริเวณหมู่เกาะรอก กองหินแดง และกองหินม่วง ดังนี้
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 พฤศจิกายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ทรัพยากรป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของพรรณพืชมาก ซึ่งสามารถจำแนกออกได้ดังนี้

ป่าดิบชื้น คิดเป็นเนื้อที่ 19.42 ตารางกิโลเมตร ปรากฏอยู่บริเวณเกาะลันตาใหญ่ ตลอดแนวเทือกเขาลันตา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติ ป่าดิบชื้นที่พบมีไม้ชั้นบน และไม้ชั้นกลางความสูงโดยเฉลี่ย 15-25 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เคี่ยมคะนอง ยางแดง ตะแบกนา ตะเคียนหิน เป็นต้น และมีพันธุ์ไม้จำพวกปาล์มและหวาย เป็นไม้พื้นล่างของป่า พันธุ์สำคัญที่พบ ได้แก่ กะพ้อ หวายขม หวายตะค้าทอง หวายงวย เป็นต้น

ป่าชายเลน พบบริเวณ เกาะไม้งาม เกาะไม้งามใต้ และเกาะงู เกาะเหล่านี้เป็นเกาะที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และมีสภาพเป็นป่าชายเลนทั้งเกาะ ไม้ส่วนใหญ่มีระดับความสูงที่ใกล้เคียงกันโดยมีความสูง 5 เมตร โดยเฉลี่ยพันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ แสมขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่

ป่าชายหาด พบเป็นบริเวณไม่กว้างนัก ระหว่างรอยต่อของชายหาดกับป่าดิบชื้นของเกาะไหง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ หูกวาง หยีทะเล ผักบุ้งทะเล และเตยทะเล เป็นต้น

สัตว์ป่า แบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ
จำพวกสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม มีจำนวน 20 วงศ์ 30 สกุล 38 ชนิดในจำนวนสัตว์ทั้ง 38 ชนิดนั้น มี 2 ชนิดได้หมดไปจากเกาะลันตาแล้ว คือ กวางป่า และเสือโคร่ง ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ พะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน และอีก 2 ชนิดอยู่ในสถานะที่กำลังจะหมดไป คือ เก้ง และเสือปลา และสัตว์ที่หายากอีกชนิดหนึ่งคือ ค้างคาวมงกุฎหูโตมาร์แชล

นก มีทั้งสิ้น 58 วงศ์ 130 สกุล 185 ชนิด นกที่พบบ่อยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ เช่น เหยี่ยวแดง นกนางนวลแกลบคิ้วขาว นกเขาเขียว เป็นต้น ส่วนนกที่พบเห็นได้ค่อนข้างยาก เช่น นกขุนแผนอกสีส้ม นกเดินดงสีเทาดำ และนกปลีกล้วยเล็ก เป็นต้น

สัตว์เลื้อยคลาน ชนิดที่พบได้ง่าย เช่น จิ้งจกหางแบน เหี้ย งูเหลือม และงูเห่าตะลาน เป็นต้น

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีอยู่เพียง 2 ชนิด ชนิดที่พบเห็นได้ตามลำคลองทั่วไปคือ กบทูด และอึ่งน้ำเต้า ส่วนตามอาคารที่พักและตามแหล่งน้ำทั่วๆ ไปในป่าจะพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น เขียดตะปาด และคางคกแคระ ชนิดที่หายากและพบได้น้อย คือ กบดอร์เรีย

ปลาน้ำจืดและปลาทะเล แหล่งน้ำจืดต่างๆ สามารถพบปลาน้ำจืด เช่น ปลาซิวใบไผ่เล็ก ปลาช่อนก้าง ปลาตะเพียนจุด เป็นต้น สำหรับปลาทะเลที่พบตามแนวปะการัง ชายฝั่งหาดหิน และปากคลองน้ำจืด เช่น ปลาโทง ปลาปากคม และปลาปักเป้าหนามทุเรียน เป็นต้น

สัตว์ในแนวปะการัง เช่น ปะการังลูกโป่ง ปะการังเขากวางขนาดใหญ่ ปะการังเห็ด ปะการังดอกไม้ ปะการังดาวใหญ่ เป็นต้น

การเดินทาง
รถยนต์ การเดินทางโดยรถยนต์สู่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา(แหลมโตนด) มีระยะทางจากกรุงเทพถึงกระบี่ ประมาณ 850 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงกระบี่ไปตรัง ประมาณ กม.ที่ 64 เลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 4206 ไปทางบ้านหัวหิน จากนั้นข้ามแพขนานยนต์ ไปเกาะลันตาน้อยและข้ามสะพานสิริลันตาเพื่อข้ามไปเกาะลันตาใหญ่ตามลำดับ เส้นทางบางช่วงสูงชันไม่เหมาะสำหรับรถเก๋ง
หมายเหตุ : จุดจำหน่ายตั๋วแพขนานยนต์อยู่บริเวณก่อนถึงท่าเรือประมาณ 400 เมตร โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถึงเกาะลันตาน้อย
ค่าตั๋วแพขนานยนต์ : รถยนต์ ราคา 100 บาท บุคคลภายนอก ราคา 10 บาท เที่ยวเรือเวลา 06.00 น. - 22.00 น.
เรือ จากจังหวัดกระบี่เดินทางสู่เกาะลันตาโดยทางเรือ สามารถขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือต่างๆ ดังนี้
- ท่าเรือคลองจิหลาด อ.เมือง จ.กระบี่ ออกเวลา 11.00 น. ถึงเกาะลันตา เวลาประมาณ 13.00 น. ค่าโดยสารประมาณ 350 บาท
- ท่าเรืออ่าวต้นไทร(เกาะพีพี) ออกเวลา 08.00 น. ถึงเกาะลันตา เวลาประมาณ 09.30 น. ค่าโดยสารประมาณ 300 บาท
- ท่าเรือเกาะจำ (อ.เหนือคลอง) ออกเวลา 11.30 น. ถึงเกาะลันตา เวลาประมาณ 12.15 น. ค่าโดยสารประมาณ 250 บาท
- ท่าเรือหาดนพรัตน์ธารา ต.อ่าวนาง อ.เมือง ออกเวลา 10.30 น. ถึงเกาะลันตา เวลาประมาณ 12.45 น. ค่าโดยสารประมาณ 380 บาท
สำหรับการเดินทางสู่เกาะไหง เกาะห้า เกาะรอก และหินแดง-หินม่วง เมื่อไปถึงเกาะลันตาใหญ่แล้ว สามารถเช่าเรือเอกชนได้จากท่าเรือบ้านศาลาด่าน หรืออีกเส้นทางหนึ่งคือ จากหาดปากเมง อ.สิเกา จ.ตรัง ส่วนการไปหินแดง-หินม่วง มีเรือที่ให้บริการดำน้ำลึกเท่านั้น
รถโดยสารประจำทาง การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาจังหวัดกระบี่ ขึ้นรถที่สายใต้ใหม่(บรมราชชนนี) มีรถของบริษัทขนส่ง บริษัทลิกไนท์ ทัวร์ เป็นต้น มีทั้งรถ ป.1 และ วีไอพี ราคา 614-920 บาท สอบถามราคารถโดยสารได้ที่บริษัท
1.จากจังหวัดกระบี่ สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาได้ดังนี้
- โดยสารรถตู้จากตัวเมืองกระบี่ไปเกาะลันตา ราคาประมาณ 200 บาท ถึงท่าเรือหัวหิน รถลงแพขนานยนต์ไปเกาะลันตาใหญ่ จากนั้นเช่ารถรับจ้างไปยังแหลมโตนด ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา หรือจ้างเหมา/เช่าเรือจากศาลาด่านไปยังเกาะรอกหรือเกาะอื่นๆ ตามต้องการ
2. จากจังหวัดตรังหรืออำเภอห้วยยอด โดยสารรถตู้จากตัวเมืองตรังไปเกาะลันตา ราคาประมาณ 200 บาทรถโดยสารประจำทาง
การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาจังหวัดกระบี่ ขึ้นรถที่สายใต้ใหม่(บรมราชชนนี) มีรถของบริษัทขนส่ง บริษัทลิกไนท์ ทัวร์ เป็นต้น มีทั้งรถ ป.1 และ วีไอพี ราคา 614-920 บาท สอบถามราคารถโดยสารได้ที่บริษัท
1.จากจังหวัดกระบี่ สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาได้ดังนี้
- โดยสารรถตู้จากตัวเมืองกระบี่ไปเกาะลันตา ราคาประมาณ 200 บาท ถึงท่าเรือหัวหิน รถลงแพขนานยนต์ไปเกาะลันตาใหญ่ จากนั้นเช่ารถรับจ้างไปยังแหลมโตนด ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา หรือจ้างเหมา/เช่าเรือจากศาลาด่านไปยังเกาะรอกหรือเกาะอื่นๆ ตามต้องการ
2. จากจังหวัดตรังหรืออำเภอห้วยยอด โดยสารรถตู้จากเมืองตรังไปเกาะลันตา ราคาประมาณ 200 บาท ถึงท่าเรือหัวหิน รถลงแพขนานยนต์ไปเกาะลันตาใหญ่ จากนั้นเช่ารถรับจ้างไปยังแหลมโตนด หรือโดยสารรถตู้/เช่ารถรับจ้างไปยังท่าเรือบ้านปากเม็ง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แล้วจ้างเหมา/เช่าเรือ หรือโดยสารเรือไปยังเกาะไหง เกาะรอก หรือเกาะลันตาใหญ่ ก็ได้เช่นกัน

สถานที่ท่องเที่ยว

กองหินแดง-หินม่วง
เป็นกองหินใต้น้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะรอกนอกและเกาะรอกใน เป็นจุดดำน้ำลึกที่มีปะการังอ่อนสวยงามมากรวมทั้งสัตว์ทะเลนานาชนิด เป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงของเกาะลันตา เป็นจุดที่มักพบฉลามวาฬ

เกาะตะละเบ็ง เป็นเกาะที่มีรูปลักษณะเป็นหินปูน มีชายหาดเล็กๆ เมื่อน้ำทะเลขึ้นจะท่วมบริเวณชายหาด มีลักษณะของโพรงถ้ำอยู่ริมน้ำ เป็นที่อาศัยของนกนางแอ่น

เกาะรอก มี 2 เกาะคู่กัน
เกาะรอกใน ด้านทิศตะวันออกมีหาดทรายและมีแหล่งดำน้ำตื้น ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นโขดหินและมีแหล่งดำน้ำลึก ส่วนทิศใต้มีหลักเขตสยามที่เชื่อว่าปักไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เกาะรอกนอก มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ หาดทะลุที่อ่าวโค้งคล้ายเกือกม้าทรายขาวละเอียด และอ่าวม่านไทรที่มีหาดยาวและมีแนวปะการังน้ำตื้น ที่เกาะรอกนอกเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ ลต.1(เกาะรอก) มีบ้านพักไว้บริการและสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ยังได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1,050 เมตร

แหลมโตนด เกาะลันตาใหญ่

มีหาดทรายสวยงามอยู่ทางด้านหลังเกาะ และเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่ใกล้เคียง เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ที่อยู่ปลายสุดของเกาะลันตาใหญ่ มีลักษณะเป็นที่ราบรูปสามเหลี่ยมปลายด้านหนึ่งยื่นออกไปในทะเล มีต้นตาลสูงเด่น อีกด้านหนึ่งเป็นเขาสูงชันที่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ

บริเวณแหลมโตนดนี้ มีบ้านพัก สถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรมบนเกาะ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ร้านอาหารสวัสดิการ ห้องน้ำ-ห้องสุขา เส้นทางศึกษาธรรมชาติด้วย

เกาะห้า หรือตุกนลิมา : ตุกนลิมา แปลว่า กองหินห้าลูก เป็นกลุ่มเกาะ 5 เกาะ เกาะห้าใหญ่จะมีลักษณะของทุ่งหญ้าอยู่บนสันเกาะ มีเกาะรูปคล้ายใบเรือ เป็นเกาะที่มีน้ำลอดได้เมื่อขึ้นอยู่บนสันเกาะจะมีมุมทิวทัศน์ที่สวยงาม กลุ่มเกาะห้าเป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงอีกเกาะหนึ่งของเกาะลันตา สัตว์ที่น่าสนใจคือกระเบนราหู

กระโจมไฟเกาะลันตา ของเดิม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 เป็นกระโจมไฟแบบหอคอยเฟอร์โรคอนกรีต ตัวกระโจมทาสีขาว ตำบลที่สร้างบริเวณท้ายเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ อยู่ในตำบลที่ ละติจูด 7 องศา 24 ลิปดา 00 ฟิลิปดา เหนือ ลองจิจูด 99 องศา 06 ลิปดา 05 ฟิลิปดา ตะวันออก ความสูงจากฐานถึงเรือนตะเกียง 5 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 31 เมตร ใช้ตะเกียง ขนาด 300 มิลลิเมตร ใช้ก๊าซอะเซติลีนเป็นเชื้อเพลิง ติดเครื่องบังคับแสง สำหรับทำให้ไฟติดในเวลากลางคืน และไฟดับในเวลากลางวัน ลักษณะของไฟเป็นไฟขาว วับเป็นหมู่ทุก 15 วินาที (0.5+1.5+0.5+1.5+0.5+10.5 = 15 วินาที) มองเห็นได้ไกล 11 ไมล์
ต่อมาทางราชการได้สร้างกระโจมไฟใหม่ขึ้นมาทดแทน เนื่องจากของเดิมชำรุดและต้นไม้บังแสงไฟ สร้างใหม่เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2519 เป็นหอคอยเฟอร์โรคอนกรีตทาสีขาวตลอด ห่างจากกระโจมเดิม 15 เมตร อยู่ในตำบลละติจูด 7 องศา 27 ลิปดา 58.508 ฟิลิปดา เหนือ ลองจิจูด ที่ 99 องศา 06 ลิปดา 03.777 ฟิลิปดา ตะวันออก ความสูงจากฐานถึงเรือนตะเกียง 10 เมตร ใช้ตะเกียงก๊าซอะเซติลีน เริ่มเปิดใช้เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2519 และทางราชการได้เปลี่ยนเป็นตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิต ขนาด ML-300 มิลลิเมตร เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2533 ใช้แผงโซล่าเซลล์แบตเตอรี่ ขนาด 105 แอมป์ มองเห็นได้ไกล 12 ไมล์ ลักษณะไฟคงเดิม กระโจมไฟเกาะลันตาอยู่ในความรับผิดชอบของกองเครื่องหมายทางเรือ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

หินรูปเจ้าแม่กวนอิม บริเวณเกาะไหง เป็นหินที่เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นลม ตามธรรมชาติ จนทำให้ดูเหมือนเจ้าแม่กวนอิม ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลต. 2 (เกาะไหง) เพียง 500 เมตร

Location

59 หมู่ที่ 5 บ้านแหลมโตนด ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 81150

Contact Information

Address
59 หมู่ที่ 5 บ้านแหลมโตนด ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 81150
เบอร์โทร
อีเมลล์

There are no reviews yet.

พยากรณ์อากาศ

Camper Post/Vedio

เข้าสู่ระบบสมาชิก thecamper.me

X