อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
Description
ข้อมูลจากสำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน (เปิด) (Mu Ko Similan)
ที่ตั้งและข้อมูลทั่วไป
สถานที่ติดต่อ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 93 หมู่ที่ 5 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82210
E-mail : np_similan@hotmail.com
โทรศัพท์ : 0 7645 3272, 0 7645 3273, 0 7645 3273
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ: นายทัศเนศวร์ เพชรคง
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ
อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 500 บาท เด็ก 300 บาท
**หมายเหตุ เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้วกรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ
ร้านค้าสวัสดิการ
ร้านค้าสวัสดิการ (ร้านอาหาร) เปิดให้บริการทุกวันเวลา เช้า 07.30 น. - 09.00 น. เที่ยง 11.00 น. - 14.30 น.
เย็น 18.30 น. - 20.00 น.
ร้านค้าสวัสดิการ ของที่ระลึก (กาแฟ น้ำดื่ม ขนม) เปิดให้บริการทุกวันเวลา 07.00 น. - 20.00 น.
สัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่
1. บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ : AIS, TRUE, DTAC
2. บริเวณเกาะเมียง (เกาะ 4) : AIS, TRUE
3. บริเวณเกาะห้า : AIS, TRUE
4. บริเวณเกาะหก : AIS, TRUE
5. บริเวณเกาะปายู (เกาะ 7) : AIS, TRUE
6. บริเวณเกาะสิมิลัน (เกาะ 8) : DTAC
7. บริเวณท่าเรือทับละมุ : AIS, TRUE, DTAC
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 28ลิปดาถึง 9 องศา 15 ลิปดาเหนือ ตัดกับลองจิจูดที่ 97 องศา ถึง 97 องศา 50 ลิปดาตะวันออก ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 70 กิโลเมตร และห่างจากท่าเทียบเรือหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 90 กิโลเมตร เกาะเมียงหรือเกาะสี่เป็นที่ตั้ง
“สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือเกาะเก้า ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เกาะทั้งเก้าเรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง
หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 43 ในปี พ.ศ. 2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) และในปี 2541 ได้ผนวกพื้นที่บริเวณ “เกาะตาชัย” เพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วงน้ำทะเลรอบเกาะที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร (87,500 ไร่) พื้นที่เกาะซึ่งเป็นที่ดินมีประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร (16,250 ไร่) ชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะสิมิลัน เป็นส่วนภาคตะวันออกของทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียที่มีการลดตัวลงของพื้นทะเล(SUBMERGENT SHORELINE) จึงมีการกัดเซาะพังทลายโดยมีน้ำทะเลเป็นตัวกระทำอย่างรุนแรงทำให้บริเวณเกาะทั้ง 9 เกาะ เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา มีรูปร่างต่างๆ อันเป็นผลจากขบวนการกัดเซาะ สำหรับหินที่พบในหมู่เกาะสิมิลัน ทั้ง 9 เกาะ เป็นหินอัคนีชนิด granite อายุของหินนี้อยู่ระหว่างยุค Tertiary – cretaceous ประมาณ 65 ล้านปีที่ผ่านมา
สถานที่ท่องเที่ยว
อ่าวเกือก
เกาะเมียง (เกาะสี่)
เกาะสิมิลัน (เกาะแปด)
เกาะตาชัย
เกาะบอน
เกาะบางู (เกาะเก้า)
หินปูซาร์
เกาะปายู (เกาะเจ็ด)
เกาะห้า
เกาะหก
ขนาดพื้นที่
87,500.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่สล.1(เกาะเมียง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่สล.2(เกาะสิมิลัน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สล.3(เกาะตาชัย)
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาค ทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย 3,560 มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย 1,708 มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 30 เมษายน ของทุกปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
1. ป่าชายหาด มีลักษณะโปร่งพบพันธุ์ไม้กระจัดกระจายมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ได้แก่ หูกวาง จิกเล สารภีทะเล ไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 10 เมตร เช่น ตะบัน หงอนไก่ทะเล ปอทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ชิงชี่ ก้างปลาทะเล เตยทะเล เป็นต้น พืชคลุมดินที่พบ เช่น พืชตระกูลถั่ว พวกถั่วผี ผักราด หญ้าที่พบตามชายหาด เช่น หญ้าหวาย หญ้าขุย ไม้ไผ่ พืชอาศัย ได้แก่ นมพิจิตร ข้าหลวงหลังลาย เป็นต้น
2. ป่าละเมาะ เป็นสังคมของไม้พุ่มที่เจริญเติบโตได้บนดินที่มีความลึกของชั้นดินไม่เกิน 30 เซนติเมตร พรรณไม้ที่พบไม่หนาแน่นนัก เช่น กระบองเพชร จันทน์ผา ไม้พุ่มขนาดเล็กที่พบทั่วไป ได้แก่ พลอง นกนอน เป็นต้น
3. ป่าดงดิบ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ความสูง 20 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางปาย ยูง สะยา ไม้ยืนต้นขนาดรองลงมา ความสูง 15-20 เมตร ได้แก่ ขนุนนก เม่า โมกป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางความสูง 10-15 เมตร ที่พบ เช่น กระเบา รักป่า เนียน เป็นต้น มักพบ ไผ่ป่า หวาย ปาล์ม ขึ้นปะปน ไม้เลื้อย ไม้เถาว์ที่พบ เช่น พลูฉีก เสี้ยวเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และกาฝากเกาะตามกิ่งก้านไม้ขนาดใหญ่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหาพบได้ยาก ได้แก่ ละมุดป่า และงวงช้างทะเล พบเฉพาะเกาะใหญ่ในทะเลอันดามัน พืชที่กินผลหรือใบอ่อนได้ เช่น ละมุดป่า มะปริง มะหวด เนียง ผักหวาน และชิงชี่ เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ พญากระรอกดำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โลมาหัวขวด เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าทะเลที่สำคัญได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ นอกจากนี้ยังพบพวกเหี้ย แลน กระรอก เป็นจำนวนมาก ส่วนจำพวกงู ไม่เคยพบงูที่มีพิษ งูที่พบมากได้แก่ งูเหลือม
นก ที่พบได้บ่อยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีดังนี้
1. นกที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยี่ยวแดง นกกวัก เป็นต้น
2. นกที่จัดเป็นนกอพยพ เข้ามาในประเทศไทยบางฤดูกาล เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา
3. นกประจำถิ่นและบางครั้งมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ นกนางแอ่นบ้าน นกยางควาย นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาบ เป็นต้น
ปลา ที่สำคัญที่พบเป็นพวกปลาทะเล ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทงเทง ปลากระเบน ปลาบิน ปักเป้าทะเล รวมตลอดถึงปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งปะการังอีกหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อ ปลานางฟ้า และปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด
สัตว์ประเภทอื่นที่สำคัญ สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ปะการัง และแมงกระพรุน ซึ่งปะการังโดยรอบหมู่เกาะสิมิลัน ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำลึก เท่าที่สำรวจพบ ได้แก่ ปะการังใบไม้ ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังรูพรุน นอกจากนี้ยังมีปะการังที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และปะการังพรุนแบบฟองน้ำอีกหลายชนิด ทั้งยังพบพวกกัลปังหาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนสายระนอง-ตะกั่วป่า-พังงา ผ่านอำเภอตะกั่วป่ามาจนถึงบ้านลำแก่นจะมีสามแยกขวามือไปท่าเรือทับละมุ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรก็จะถึงท่าเรือทับละมุ จากท่าเรือทับละมุต้องโดยสารเรือไปเกาะสี่ (เกาะเมียง) ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1ชั่วโมง30นาที
เครื่องบิน
จากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานภูเก็ตจากนั้นเดินทางสู่จังหวัดพังงาโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถตู้ ถึงท่าเทียบเรือทับละมุระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้สามารถไปได้ทุกคันที่วิ่งสายระนอง-พังงา แล้วลงที่ทางแยกไปท่าเรือทับละมุจากนั้นต่อรถรับจ้างมาที่ท่าเรือ
เรือ
จากท่าเรือทับละมุเดินทางไปยังเกาะสี่(เกาะเมียง) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติที่ สล.1 (เกาะเมียง) และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.2 (เกาะสิมิลัน) ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร มีเรือโดยสารของเอกชนโดยเรือสปีดโบ๊ตให้บริการทุกวัน ตลอดฤดูกาลท่องเที่ยว (15 ตุลาคม – 15 พฤษภาคม) เรือโดยสารทุกลำจะออกจากท่าเรือ โดยมีกำหนดเวลาเดินทางจากท่าเรือทับละมุไปเกาะเวลา 08.00 – 09.00 น. (ขาไป) และเดินทางจากเกาะไปท่าเรือทับละมุ เวลา 15.00 น. (ขากลับ) ทั้งขาไปและขากลับ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1ชั่วโมง30นาที (โดยเรือสปีดโบ๊ต)
(การเดินทางไปเกาะ เรือของบางบริษัทอาจแวะตามเกาะต่างๆ เพื่อดำน้ำตื้นประมาณ 2-3 เกาะ อัตราค่าโดยสารขึ้นอยู่กับชนิดของเรือ) ทางอุทยานแห่งชาติไม่มีเรือให้บริการ ซึ่งจะมีแต่เรือของบริษัทเอกชนเท่านั้น
- ช่วงเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นฤดูท่องเที่ยวจะมีเรือโดยสารจากท่าเรือทับละมุไปยังเกาะสิมิลันทุกวัน หากมาเป็นหมู่คณะสามารถเช่าเหมาเรือได้
- หมู่เกาะสิมิลันอยู่ห่างจากฝั่งที่ท่าเรือทับละมุซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดประมาณ 70 กิโลเมตร และยังมีเรือโดยสารธรรมดาและเรือเร็วบริการพานักท่องเที่ยวมาจากภูเก็ตด้วย
- บนเกาะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวจำกัด ฉะนั้นการเดินทางไปเกาะสิมิลันจึงต้องติดต่อล่วงหน้าเท่านั้น
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวน 3,850 คนต่อวันโดยแบ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบ ไปเช้า - เย็นกลับ (One Day Trip) จำนวน 3,325 คนต่อวันและกิจกรรมดำน้ำลึก 525 คนต่อวัน
บริษัทเอกชนที่ให้บริการการท่องเที่ยวมีท่าเรือที่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันดังนี้
จังหวัดพังงา : ท่าเรือทับละมุ ท่าเรือน้ำเค็ม ท่าเรือเตาถ่าน
จังหวัดภูเก็ต : ท่าเรือสะพานสารสิน
ก่อนวางแผนการเดินทางทุกครั้งนักท่องเที่ยวควรสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวโดยตรงกับบริษัทเอกชนที่เปิดให้บริการการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
โทร : 0-7645-3272 ภายในเวลาราชการ
สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
- ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ร้านอาหาร - ร้านอาหาร
ร้านอาหาร - ร้านอาหารสวัสดิการ
ร้านอาหาร - ร้านอาหารสวัสดิการ
ร้านอาหาร - ร้านอาหารสวัสดิการ
อื่นๆ - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ร้านค้า - ร้านค้าสวัสดิการ
ห้องน้ำ - ห้องน้ำ
ห้องน้ำ - ห้องน้ำ
ถังขยะ - ถังขยะ
Location












Contact Information
Review
Login to Write Your ReviewThere are no reviews yet.